ภัยจากอินเตอร์เน็ต

                         ภัยจากอินเตอร์เน็ต





ข่าวแขกปากีสถานใช้ "แชตรูม" เป็นเครื่องมือล่อลวงครูสาว วัย 28 ปีจากจังหวัดอุบลราชธานี มาขืนใจและฆ่าหั่นศพทิ้งไว้ริมถนนหัวหมากตัดใหม่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นถึงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นใน "โลกออนไลน์" อีกครั้งหนึ่ง

แต่ในวันนี้ "แชตรูม" ไม่ได้เป็นสื่ออินเตอร์เน็ตชนิดเดียวที่คนร้ายใช้ล่าเหยื่อ แต่ยังมีอีกหลายชนิด ทั้งโปรแกรมไอเอ็ม เกมออนไลน์ อีเมล์ หรือแม้แต่มือถือที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน การใช้งานสื่อไฮเทคเหล่านี้ยิ่งต้องรู้เท่าทันและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น!

________________________________________

-แชตรูม

การป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากกลุ่มคนร้าย-โรคจิตที่ใช้ "แชตรูม" เป็นเครื่องมือล่าเหยื่อ ประกอบด้วย

1. ห้ามบอกข้อมูลส่วนตัวให้คนที่กำลังแชตอยู่ด้วยรู้เป็นอันขาด เช่น ข้อมูลอีเมล์ ชื่อ โรงเรียน อายุ หมายเลขโทรศัพท์

2. สำหรับนักแชตที่ยังเป็นเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเข้ามามีบทบาทสอนวิธีการใช้อินเตอร์เน็ตที่ถูกต้องปลอดภัยให้กับลูกๆ และตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องส่วนกลางที่มองเห็นง่าย

3. ห้ามออกไปพบกับคู่แชต 2 ต่อ 2 เด็ดขาด ในกรณีที่ยังเป็นเยาวชน ถ้าคบหากันเป็นเพื่อนโดยบริสุทธิ์ใจ คู่แชตต้องยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งพาพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดไปด้วยเวลานัดพบสังสรรค์

4. ผู้ปกครองควรเปิดกว้างรับฟังเรื่องราวที่ลูกๆ พบเจอในโลกอินเตอร์เน็ต และไม่ควรปิดกั้นไม่ให้ลูกเล่น เพราะจะยิ่งกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น

5. ถ้าเข้าไปเล่นในแชตรูมที่ไม่เป็นที่รู้จักในสังคม หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อผู้เล่น หรือ "แฮนเดิ้ล" เป็นชื่อผู้หญิงหรือชื่อที่ส่อไปทางกามารมณ์ เพราะจะตกเป็นเป้าหมายง่ายขึ้น

6. จำไว้ว่าคนที่อยู่ในแชตรูมจะโกหกอะไรก็ได้ โดยสิ่งที่คนร้ายมักโกหกมากที่สุดคือเรื่องของชื่อ อายุ เพศ เชื้อชาติ

7. เมื่อมีคนเข้ามาแชตด้วยถ้อยคำล่วงละเมิดทางเพศ หยาบคาย ให้ออกจากการสนทนาทันที คนร้ายกลุ่มนี้ต้องการยั่วให้ฝ่ายตรงข้ามตอบโต้จะได้ยื้อเวลาเปิดบทสนทนาต่อไป

________________________________________

-อีเมล์

ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์ แอดเดรส) ไม่ใช่ของหายากอีกต่อไปสำหรับคนร้าย เพราะคนจำนวนมากทั่วโลกนิยมใส่อีเมล์ของตนเองไว้ในเว็บไซต์ส่วนตัว บล็อก เว็บไซต์หาเพื่อน เว็บโรงเรียน ฯลฯ

คนร้ายที่มีความสามารถเขียนโปรแกรมถึงกับจัดทำเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกเอาอีเมล์ของเหยื่อ วิธีป้องกันตัวจากภัยอีเมล์ ได้แก่

1. บอกอีเมล์ แอดเดรส กับคนรู้จักและไว้ใจเท่านั้น อย่าบอกอีเมล์กับคนที่เพิ่งรู้จักกันออนไลน์

2. อย่าบอกอีเมล์ของเพื่อน หรือ คนใกล้ชิด ให้กับคนแปลกหน้ารู้

3. ถ้าได้รับอีเมล์ที่มีเนื้อหา-รูปภาพคุกคามสิทธิส่วนบุคคลอย่าลบอีเมล์ดังกล่าว ให้บันทึกข้อมูลเอาไว้เป็นหลักฐาน การเก็บข้อมูลมีหลายวิธี เช่น จัดเก็บใส่โฟลเดอร์ หรือ คัดลอกข้อความมาเก็บไว้ในรูปแบบของเวิร์ดไฟล์

4. ถ้าได้รับอีเมล์คุกคามไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ให้บอกกับผู้ปกครอง ครู เพื่อน หรือครอบครัว และไปแจ้งความไว้ด้วย

5. ศึกษาวิธีใช้คำสั่ง "บล็อก-กรอง" อีเมล์ที่ไม่ต้องการรับ

6. ถ้าบล็อกแล้วแต่ยังได้รับอีเมล์ประหลาดๆ อีเมล์ขยะๆ ให้เลิกใช้ และเปิดอีเมล์ แอดเดรสใหม่

7. เปิดอีเมล์หลายๆ ชื่อ เพื่อแยกแยะการรับส่งออกเป็นหมวดหมู่ อาทิ อีเมล์ครอบครัว อีเมล์เพื่อน

8. ห้ามเปิดไฟล์แนบ (attachment) หรือคลิ๊กลิงก์ที่มากับอีเมล์ที่ไม่รู้จักเด็ดขาด เพื่อป้องกันไวรัส

9. อย่า "ฟอร์เวิร์ด" อีเมล์ที่น่าสงสัยไปให้คนอื่น

________________________________________

-ไอเอ็ม

"ไอเอ็ม" เป็นชื่อเรียกย่อๆ ของโปรแกรมสนทนาทางอินเตอร์เน็ต เช่น "แมสเซ็นเจอร์" ของเว็บไซต์เอ็มเอสเอ็นและยาฮู รวมถึงโปรแกรม "ไอซีคิว" โดยสมาชิกสามารถค้นหาผู้เล่นคนอื่นๆ ที่ใช้โปรแกรมเดียวกันจากทั่วโลกและเพิ่มรายชื่อเข้าไปในลิสต์เพื่อน ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องระวังตัวเช่นกัน

1. อย่ากรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่แท้จริงลงไปเวลาสมัครสมาชิกและตั้งข้อมูลโปรไฟล์ส่วนตัว

2. ถ้ามีคนขอเพิ่มรายชื่อใหม่เพื่อเป็นเพื่อนคุยไอเอ็มด้วย ให้พิจารณาให้ดีก่อนรับเพิ่มรายชื่อ

3. เก็บข้อมูลการสนทนาทุกครั้งไว้ในคอมพิวเตอร์

4. ใช้ "นามแฝง" เวลาคุยเพื่อความปลอดภัย

5. เก็บรหัสลับกับชื่อยูสเซอร์เนมการเข้าโปรแกรมไว้ในที่ปลอดภัย

6. เมื่อมีข้อความไอเอ็มหยาบคาย อนาจารส่งเข้ามาอย่าตอบกลับ

7. การนัดพบกันตัวต่อตัวเป็นอันตรายเสมอ ถ้าคิดว่ามั่นใจอยากจะพบให้นัดเจอในที่สาธารณะ ในตอนกลางวัน

________________________________________

-มือถือ

โทรศัพท์มือถือยุคปัจจุบัน มีประสิทธิภาพพอๆ กับคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่ายรูปภาพและถ่ายวิดีโอ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การใช้งานและแจกจ่ายเบอร์ให้ใครพึงทำด้วยความระมัดระวัง

1. บอกหมายเลขมือถือแก่คนรู้จัก และคนสนิทที่ไว้ใจเท่านั้น

2. อย่าบอกเบอร์มือถือของเพื่อนให้กับผู้อื่น โดยที่เพื่อนยังไม่ได้อนุญาต

3. ถ้ามีข้อความเอสเอ็มเอสแปลกๆ ส่งเข้ามา อย่าพิมพ์ข้อความตอบกลับ

4. การเก็บบันทึกข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรเครดิต รูปภาพ ไฟล์วิดีโอ เอาไว้ในมือถืออาจทำให้เกิดปัญหาได้ในภายหลัง ถ้ามือถือหายหรือต้องนำไปซ่อม

________________________________________

-เกมออนไลน์

เกมคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้สามารถเล่นผ่านเว็บไซต์อินเตอร์เน็ตแบบฟรีๆ มากมายจนนับไม่ถ้วน เช่น หมากรุก หมากฮอส ไพ่ เกมต่อสู้ ฯลฯ

ภายในเกมแต่ละเกมยังมีระบบพิมพ์ข้อความ หรือ พูดสนทนากันสดๆ ระหว่างเล่นไปได้ด้วย ส่งผลให้มีผู้เล่นจำนวนหนึ่งเมื่อพูดคุยกันถูกคอก็นัดแนะวันเวลาเล่นกันครั้งหน้า

ด้วยเหตุนี้เว็บไซต์เกมออนไลน์จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งนักล่าเหยื่อออนไลน์เข้ามาสอดส่องเสาะแสวงหาเหยื่อ วิธีป้องกันตัวเบื้องต้นจากอาชญากรกลุ่มนี้ ได้แก่

1. ท่องให้ขึ้นใจว่าคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ไว้ใจได้ยาก ไม่ว่าจะเคยพูดคุยผ่านเว็บกันมานานเท่าไหร่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นเป็นคนดี

2. การนัดพบกันคนแปลกหน้าที่รู้จักกันทางเว็บมีอันตรายมาก ถ้าจำเป็นหรืออยากพบจริงๆ ต้องบอกให้พ่อแม่ผู้ปกครองทราบ หรือ ชวนเพื่อนไปด้วย

3. ไม่ควรเปิดเผยชื่อและข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ

4. คนร้ายอาจหลอกล่อขอข้อมูลส่วนบุคคลของเพื่อนเรา ฉะนั้นห้ามให้เด็ดขาดเช่นกัน

5. ให้สังเกตบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะมีปุ่มคำสั่ง "ไล่" (Kick) คนที่เข้ามาเล่นและมีพฤติกรรมไม่ดีออกจากเกม

ความคิดเห็นของผู้ทำ
การใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ผิดนั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้