การปกป้องเยาวชนจากภัยออนไลน์

การป้องกันเยาวชนจากภัยออนไลน์


Written by Webmaster
Saturday, 28 June 2008 16:53


ไม่มีใครปฏิเสธว่า อินเทอร์เน็ตมีบทบาทต่อชีวิตคนทุกเพศทุกวัย ไม่เลือกเด็ก หรือผู้ใหญ่ และแน่นอนว่า ภัยออนไลน์ที่แฝงตัวอยู่กับโลกดิจิทัลก็ไม่เลือกปฏิบัติการร้ายต่อคนใดคนหนึ่ง ทุกคนกลายเป็นเป้าหมายได้เท่าเทียมกัน



หากเด็ก หรือเยาวชน อาจเป็นเป้าหมายที่หลอกล่อง่ายหน่อย เพราะความระมัดระวังยังน้อยอยู่ ฉะนั้น ผู้ปกครองจึงต้องช่วยกันปกป้อง สร้างภูมิคุ้มกันให้เขาเหล่านั้น

เอฟเฟนดี้ อิบราฮิม หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคอนซูเมอร์ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ บริษัท ไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกว่า ภัยออนไลน์ มีหลายรูปแบบ ทั้งการฉ้อโกง หลอกลวง ภาพโป๊ลามกอนาจาร การส่งต่อคลิปฉาว ข่าวลือ การข่มขู่คุกคาม รวมถึงเกม ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเยาวชน ภัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนแพร่กระจายสู่คนหมู่มากได้อย่างรวดเร็ว ยากต่อการยับยั้ง



จากการที่ประตูสู่โลกกว้างถูกเปิดออกอย่างง่ายดาย ทั้งเพื่อศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ การบันเทิง การพูดคุยกับเพื่อน หรือการรู้จักเพื่อนใหม่ ที่กลายเป็นสิ่งใกล้ชิดเยาวชนมากขึ้นทุกวัน พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตสอดส่องพฤติกรรมของบุตรหลานเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามจากโลกไซเบอร์



อิบราฮิม บอกวิธีการสังเกตกรณีเด็กๆ เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อว่า ให้สังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของบุตรหลานว่ามีอาคารซึมเศร้า โกรธ สับสน ภายหลังการใช้โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์หรือไม่ มีพฤติกรรมชอบปลีกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนหรือกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ คะแนนการเรียนต่ำลง หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด



หากพบเห็นการณ์เช่นนั้น เขามีวิธีแก้ไขว่า ให้คุยอย่างเปิดใจและให้ความมั่นใจว่าจะไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตของเขา เช่น ห้ามใช้มือถือ เล่นเน็ต ฯลฯ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เขายิ่งถลำลึกมากขึ้น เหมือนยิ่งพูดยิ่งยุ ในกรณีที่เด็กถูกข่มขู่ พยายามให้เขาเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด



พร้อมกับทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ คือ เก็บหลักฐานเท่าที่จะหาได้ แจ้งหน่วยงานปราบปรามหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งไปยังผู้ให้บริการมือถือ หรือไอเอสพีให้ตรวจสอบถึงต้นตอหรือที่มาของเวบไซต์ล่อลวงเหล่านั้น



กรณีที่เหตุการณ์มีที่มาจากสถานศึกษาให้ติดต่อครูหรือผู้ดูแลสถานศึกษาเพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกแรง รวมทั้งคอยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดียวกันกับเด็กกลุ่มอื่นๆ และหากเข้าข่ายเป็นการข่มขู่เกี่ยวกับการประทุษร้าย หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ให้แจ้งตำรวจทันที



ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าบุตรหลานของเราตกเป็นเหยื่อภัยคุกคามทางออนไลน์หรือไม่ เขาแนะนำให้ตรวจสอบเวบไซต์ที่บุตรหลานเข้าไปดู และสืบค้นดูว่ามีชื่อของบุตรหลานเราอยู่ใน Social Networking นั้นๆ หรือไม่ ตรวจสอบมือถือ หมายเลขโทรเข้า-ออก และข้อความหรือภาพที่เก็บไว้บนเครื่อง



หากบุตรหลานรู้สึกว่าเป็นการบุกรุกสิทธิส่วนตัวเขา จะต้องทำความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องคอยดูแลและรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำลงไป และหากบุตรหลานยังคงมีพฤติกรรมการเล่นเน็ตที่ล่อแหลมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ปกครองอาจใช้วิธีขอร้องแกมบังคับการลดการใช้มือถือและคอมพิวเตอร์ลงเพื่อยับยั้งภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้



เทคโนโลยีมีประโยชน์กับชีวิตเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านข้อมูลข่าวสารที่สะดวกรวดเร็ว แม่นยำ หรือเป็นช่องทางการสื่อสาร เป็นประตูให้เราเปิดไปสู่โลกที่ไร้ขีดจำกัด แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็มีด้านลบที่อันตราย ถ้าเลือกใช้ไม่ถูกทาง ฉะนั้นเราจึงต้องสอนให้เขาได้รู้จักและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้นให้ถูกต้อง



อิบราฮิม ยังฝากทิปการเล่นไอเอ็ม (Instant Message) ให้ปลอดภัย โดยบล็อกคนที่ไม่รู้จัก หรือไม่ต้องการติดต่อด้วย อย่าส่งข้อมูลส่วนตัวผ่านไอเอ็ม อย่าตอบกลับคนแปลกหน้า อย่าคลิกเวบลิงค์หรือเปิดไฟล์ที่ไม่ทราบที่มาที่ไปหรือน่าสงสัยว่าอาจมีไวรัสแฝงเข้ามา อย่านัดพบเพื่อนทางเน็ต สอดส่องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดให้ห่างไกลจากการถูกล่อลวง



ความคิดเห็นของผู้ทำ
เห็นแล้วใช่ไหมครับว่าอินเตอร์เน็ตนั้นมีทั้งประโยชน์และให้โทษผู้ปกครองควรเอาใจใส่เวลาเด็กใช้อินเตอร์เน็ต ควรให้คำแนะนำแก่เด็กว่าสิ่งใดดีสิ่งใดที่ไม่ดี